วันศุกร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2553

วันวิสาขบูชา


วันวิสาขบูชา

ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสาขปุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗

ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง ๓ คราวคือ

๑. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

๒. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย

๓. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ ๔๕ ปี พระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง ๓ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก
ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

วันวิสาขบูชานี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่าง มาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่าง มโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่

สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกามีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมากเพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

ในหนังสือนางนพมาศได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า " เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุก หมู่บ้านทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราช ดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ต ลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระ อารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณรบริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุ ยืนยาวต่อไป "

ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๖๐) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟู การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้น เป็นครั้งแรกในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๖๐ และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เญ็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน

ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน " ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ " ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๘ พฤษภาคม รวม ๗ วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระ ราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ตามศรัทธาตลอดเวลา ๗ วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม ๒,๕๐๐ รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๔ พฤษภาคม รวม ๓ วัน มีการก่อสร้าง พุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ ๒,๕๐๐ รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ ๒๐๐,๐๐๐ คน เป็นเวลา ๓ วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่ อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย
ห ลั ก ธ ร ร ม ส ำ คั ญ ที่ ค ว ร น ำ ม า ป ฏิ บั ติ

๑. ค ว า ม ก ตั ญ ญู คือความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว่ก่อน เป็นคุณธรรมคู่กับความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้น

• บิดามารดา มีอุปการคุณแก่ลูก ในฐานะผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบโต ให้การศึกษาอบรมสั่งสอน ให้เว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครองที่เหมาะสมให้ และมอบทรัพย์สมบัติให้ไว้เป็นมรดก

• ลูกเมื่อรู้อุปการะคุณที่บิดามารดาทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการประพฤติตัวดี สร้างชื่อเสียงให้ แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่าน และช่วยทำงานของ ท่าน และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน

• ครูอาจารย์มีอุปการคุณแก่ศิษย์ ในฐานะเป็นผู้ประสาทความรู้ให้ ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี สอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่ปิดบังยกย่องให้ปรากฎแก่คนอื่น และช่วยคุ้มครองให้ศิษย์ทั้งหลาย

• ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน ให้เกียรติ และให้ความเคารไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู

• ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี ส่งผลให้ครอบครัว และสังคมมีความสุขได้เพราะ บิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และลูกก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน

• นอกจากบิดากับลูก และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่าง นายจ้างกับลูกจ้าง อันจะส่งผลให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

• ในทางพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้า ทรงเป็นบุพการรีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนา และทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่เวไนยสัตว์

• พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชาและปฎิบัติบูชากล่าวคือการจัดกิจกรรม ในวันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวที ต่อพระองค์ด้วยการทำนุ บำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนา และประพฤติปฎิบัติธรรม เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป

๒. อ ริ ย สั จ ๔
อริยสัจ ๔ คือ ความจริงอันประเสริฐ หมายถึงความจริงของชีวิตที่ไม่ผันแปร เกิดมีได้แก่ทุกคน มี ๔ ประการ คือ

• ทุกข์ ได้แก่ปัญหาของชีวิตพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ก็เพื่อให้ทราบว่ามนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกัน ทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐาน และทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ทุกข์ขั้นพื้นฐานคือทุกข์ที่เกิดจาก การเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือทุกข์ที่เกิด จากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกันสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากไม่ได้ตั้งใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ อาทิความ ยากจน

• สมุทัย คือ เหตุแห่งปัญหาพระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหา ของชีวิตล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัญหา อันได้แก่ความอยากได้ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น

• นิโรธ คือ การแก้ปัญหาได้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิต ทั้งหมดที่สามารถแก้ไข ได้นั้นต้องแก้ไขตามทางหรือวิธีแก้ ๘ ประการ ( ดูมัชฌิมาปฎิปทา )

• มรรค การปฏิบัติเพื่อจำกัดทุกข์ เพื่อหลุดพ้นจากทุกข์ การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา เพื่อบรรลุเป้าหมายการแก้ปัญหาที่ต้องการ

๓. ค ว า ม ไ ม่ ป ร ะ ม า ท
ความไม่ประมาทคือ การมีสติเสมอทั้ง ขณะทำขณะพูด และขณะคิด สติคือการระลึกได้ ในภาคปฎิบัติเพื่อนำ มาใช้ในชีวิตประจำวัน หมายถึง การระลึกรู้ทันการเคลื่อนไหว ของอริยาบท ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน การฝึกให้เกิดสติทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวของอริยาบท กล่าวคือ ระลึกทันทั้งในขณะ ยืน เดิน นั่ง และนอน รวมทั้ง ระลึกรู้ทัน ในขณะพูดคิด และขณะทำงานต่างๆ เมื่อทำได้อย่างนี้ก็ชื่อว่า มีความไม่ประมาท

การทำงานต่างๆ สำเร็จได้ก็ด้วยความไม่ประมาท กล่าวคือผู้ทำย่อมต้องมีสติระลึกรู้อยู่ว่า ตนเองเป็นใครมีหน้าที่อะไร และกำลังทำอย่างไร หากมีสติระลึกรู้ได้อย่างนั้น ก็ย่อมไม่ผิดพลาด
ร ม ข อ ง วั น วิ ส า ข บู ช า

ทางราชการประกาศชักชวนให้ประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ทั้งเอกชน และราชการประดับตกแต่งอาคารสถานที่ด้วยธงชาติ ธงเสมาธรรมจักร จุดประทีบโคมไฟ แต่โดยทางปฎิบัติแล้ว ใช้หลอดไฟประดับหลากสี ในวันขึ้น ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๖

พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จประกอบพระราชกุศล ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงบาตร ในตอนเช้า ในตอนเย็น ทรงนำเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ และสดับพระธรรมเทศนาในพระอุโบสถ พร้อมทั้งถวายไทยธรรม

• จัดงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาที่บริเวณท้องสนามหลวงเป็นประจำทุกปี แต่ละปีมีกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาหลากหลายหน่วยงาน ทั้งทางราชการ และเอกชนทั้งฝ่ายบรรพชิต และคฤหัสถ์ ร่วมกันจัดงานอันยิ่งใหญ่สร้างความศรัทธาให้แก่พุทธศาสนิกชนบำเพ็ญกุศล มีการทำบุญตักบาตร ให้ทานรักษาศีลฟังธรรม สนทนาธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนาเป็นที่ประทับใจยิ่งนัก

• สถานที่จัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่อีกแห่งหนึ่งก็คือ ณ บริเวณพุทธมณฑล ซึ่งมีหน่วยงานกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธการร่วมกับประชาชนทั่วไป ได้จัดกิจกรรมปฎิบัติธรรมทั้งฝ่าย พระสงฆ์ และฆราวาส มีจำนวนหลายหมื่นได้ร่วมทำบุญตักบาตรให้ทานรักษาศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม และเจริญภาวนาแผ่เมตตาถวายเป๋นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา และในวันวิสาขบูชา ณ บริเวณพุทธมณฑลนี้เอง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานทรงเวียนเทียนทุกปีด้วย

• พระสงฆ์ผู้จัดรายการธรรม ทางสถานีวิทยุ เกือบทุกรายการทั่วประเทศเมื่อถึงสำคัญ คือวันวิสาขบูชาเช่นนี้ ก็มี
การประชาสัมพันธ์เชิญชวนพุทธศาสนิกชนบำเพ็ญกุศล เป็นกรณีพิเศษ คือ บรรพชาอุปสมบทนาคหมู่ และบวช เนกขัมมะ เพื่อปฎิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชะ ธรรมบูชา เป็นการช่วยสนับสนุน ส่งเสริม สร้างความสงบสุขให้แก่บุคคลและสร้างความสามัคคีธรรมให้แก่สังคม ตลอดถึงประเทศชาติอีกด้วย

สรุปแล้ววันวิสาขบูชาปีนี้ คงจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทางราชการ และเอกชนตลอดทั้ง ผู้จัดรายการธรรมะ ทางสถานีวิทยุทั่วประเทศ ช่วยกันประชาสัมพันธ์ เชิญชวนสาธุชนผู้ศรัทธา จัดกิจกรรมปฎิบัติธรรม บำเพ็ญมหากุศลอันยิ่งใหญ่เป็นกรณีพิเศษ เหมือนที่เคยปฎิบัติมาทุกๆ ปี
วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติคือ
"วันสำคัญของโลก" ( Vesak Day )
ภูมิหลัง
๑. ในการประชุม International Buddhist Conference ณ กรุงโคลัมโบ ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจำนวนมากเข้าร่วม อาทิ บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฐาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้ตกลงกันที่จะเสนอให้สมัชชาสหประชาชาติรับรองข้อมติประกาศวัน วิสาขบูชาให้เป็นวันหยุดของสหประชาชาติ

๒. ในการเยือนของประเทศต่างๆ ในอินโดจีนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศศรีลังกา ในปี ๒๕๔๒ ก็ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือ และได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่างๆ ได้ด้วยดี

๓. คณะทูตถาวรศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้จัดเตรียมร่างข้อมติ และได้ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อให้มีการรับรองข้อมติเรื่องการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสห ประชาชาติในที่ประชุมสมัชชา สหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔

๔. โดยที่สหประชาชาติประกาศวันหยุดเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว และจะเป็นปัญหาในเรื่องงบประมาณและการบริหารแก่ สหประชาชาติ หากประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุด ศรีลังกาจึงได้ตัดสินใจที่จะเสนอร่างข้อมติ ขอให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลที่สหประชาชาติ ทั้งที่สำนักงานใหญ่ และสำนักงานต่าง ๆ แทนการเสนอให้เป็นวันหยุดซึ่ง ออท. ผู้แทนถาวรประเทศต่าง ๆ รวม ๑๖ ประเทศ ได้แก่ ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฐาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย ไทย และยูเครน ได้ร่วมลงนามในหนังสือถึงประธานสมัชชาฯ เพื่อให้นำเรื่องวันวิสาขบูชาเข้าเป็นระเบียบวาระการประชุมของสมัชชาฯ

๕. ต่อมาเมื่อ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ General Committee ของสมัชชาฯ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าว โดย ออท.ผู้แทน ถาวรศรีลังกาได้กล่าวถ้อยแถลงสนับสนุนหนังสือร้องขอให้ที่ประชุมบรรจุระเบียบวาระดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสมัชชาเต็มคณะ ออท.ผู้แทนถาวรไทย อินเดีย สเปน บังคลาเทศ ปากีสถาน ไซปรัส ลาว และภูฐาน ได้กล่าวถ้อย แถลงสนับสนุน ซึ่งที่ประชุม General Committee ได้มีมติให้บรรจุเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาเต็มคณะ

ปัจจุบัน
๑. เมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๔ ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ ๑๗๔ International recognition of the Day of Visak โดยการเสนอของศรีลังกา

๒. ในการพิจารณา ประธานสมัชชาฯ ได้เชิญผู้แทนศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดียขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ทรงตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรม ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของ สหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง (observance) ตามความเหมาะสม

๓. ที่ประชุมฯ ได้รับรองร่างข้อมติโดยฉันทามติ

ถ้อยแถลงของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรฯ ศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก
ถ้อยแถลงของนายวรวีร์ วีรสัมพันธ์ อุปทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

เหตุผลที่ องค์การสหประชาชาติหนดให้ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญของโลก
เนื่องจากคณะกรรมมาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้ร่วมพิจารณาและมีมติเห็นพ้องต้องกันประกาศให้วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของโลกทั้งนี้

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวล มนุษย์ทั้งหลายในโลก จะเห็นได้จากการยกเลิกแบ่งชนชั้นวรรณะ ซึ่งเท่ากับเป็นการเลิกทาสโดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นนักอนุรักษ์สัตว์ป่าอีกด้วย กล่าวคือ ทรงสอนให้ไม่ฆ่าสัตว์ ให้รู้จักช่วยเหลือสัตว์ เหตุผลสำคัญ อีกประการหนึ่งคือ พระองค์ ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาเพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้ โดย ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนา พุทธและทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน


แบบทดสอบ

http://uploadingit.com/d/AR8E5BCWSHU2Z4L1